Home / Product knowledge

สายพานไทม์มิ่ง ชิ้นส่วนสำคัญที่ไม่ควรละเลย พูดถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ มีหลายสิ่งร้อยแปดอย่าง แต่ถ้าพูดให้แคบลงมา อุปกรณ์ชิ้นไหน หากชำรุด หรือเสื่อมสภาพ จนทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการขัดข้อง พัง ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ หนึ่งในนั้นต้องมี สายพานไทม์มิ่ง หรืออีกชื่อที่รู้จักกันดี สายพานราวลิ้น

 

เนื่องจากสายพานไทม์มิ่ง มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดจังหวะของเครื่องยนต์ คือ ดูด อัด คาย ระเบิด ซึ่งถ้าอธิบายให้ชัดเจนไปเลยก็ คือ สายพานไทม์มิ่งจะมีหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลัง จากเพลาข้อเหวี่ยงไปยังเพลาราวลิ้น จากนั้นเพลาราวลิ้นจึงถ่ายทอดกำลังไปยังกระเดื่องวาล์วอีกที เพื่อทำหน้าที่ในการเปิดกับปิดวาล์วของไอดี และไอเสียนั่นเอง แต่ถ้ามันเกิดขาดขึ้นมาแบบกระทันหัน อาจทำให้ก้านสูบ หรือลูกสูบแตก และวาล์วคดงอ นอกจากนี้หากเครื่องยนต์ดับ อย่าพยายาม start เครื่องขึ้นมาใหม่ เพราะไม่งั้นจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายหนักมากกว่าเดิม

 

สำหรับอายุการใช้งานของสายพานไทม์มิ่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 100,000 กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากใครรู้ตัวแล้วว่า อายุการใช้งานใกล้ถึงระยะเปลี่ยน ก็ควรจะรีบเปลี่ยนทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 100,000 กิโลเมตรเป๊ะๆ หรือลากยาวไปอีกหน่อย ซัก 1,000 – 10,000 กิโลเมตร เพราะไม่แน่ว่าสายพานจะขาดขึ้นมาเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าหากคุณโดนแจ๊คพอต สายพานขาดขึ้นมาระหว่างทาง งานนี้ได้ปวดหัว ไปพร้อมๆ กับเสียเงินหลักหมื่นขึ้นไปแน่ๆ เพื่อทำการซ่อมแซม หรือหนักหน่อยอาจถึงขั้นยกเครื่องใหม่กันเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้หากสายพานยังไม่ถึงระยะเปลี่ยน แต่มันเกิดความผิดปกติ ตรวจดูแล้วไม่ชอบมาพากล เช่น สายพานมีลักษณะแข็ง ชำรุด ฉีก แตก หรือฉีกขาด ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนไปเลย ดีกว่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

 

สุดท้ายนี้ หลังจากเปลี่ยนสายพานเส้นใหม่แล้ว คุณก็ควรที่จะเปลี่ยนชุดลูกรอก และซีลราวลิ้นไปด้วยเลยทั้งชุด ซึ่งลูกรอกอาจจะมีแค่ 1 ตัว หรือ 2 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรถรุ่นนั้นๆ และหากใช้ไปซักพักหนึ่งแล้ว ให้คุณทำการตรวจสอบสายพานอีกครั้ง เพราะสายพานไทม์มิ่งจะมีการยืดตัวออกจากระยะเดิมที่ปรับตั้งค่าไว้ ดังนั้นจึงต้องปรับตั้งค่าความตึงสายพานใหม่ เพื่อจะได้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้สายพานเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด